คดีความ ของ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551

บทความนี้อาจต้องปรับปรุงให้มีมุมมองที่เป็นกลาง เนื่องจากนำเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว ดูหน้าอภิปรายประกอบ โปรดอย่านำป้ายออกจนกว่าจะมีข้อสรุป

กลุ่มพันธมิตรฯ มีคดีความที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในระหว่างการชุมนุมรวมทั้งสิ้น 36 คดี อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในส่วนของคดีอาญาในการดำเนินการกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในคดีก่อการร้ายนั้นมีการตั้งข้อสังเกตว่าล่าช้ามาก (ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือการสั่งเลื่อนฟ้องร้องของพนักงานอัยการ 18 ครั้ง[93])ใช้เวลาทำสำนวนถึง 5 ปี[94]ก่อนที่จะส่งฟ้องในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556[95]

โดยจะเห็นได้ว่ากลุ่มแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่มีใครเลยที่ต้องเข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียวในข้อหาก่อการร้าย[96][97]

ในส่วนคดีก่อการร้ายยึดทำเนียบรัฐบาลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ให้จำคุกแกนนำพันธมิตร 6 รายเป็นเวลา 8 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีอยู่ระหว่างรอคำตัดสินศาลฎีกา[98]ใช้เวลา 9 ปี จึงจะมีคำสั่งศาลอุทธรณ์

ความล่าช้านี้นำมาสู่วาทะแห่งปีของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ประจำปี พ.ศ. 2551 วาทะ "ม็อบมีเส้น"[99]ของ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นโดยกล่าวในสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ความตอนหนึ่งว่า “ทุกคนทราบดีว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมมา 6 เดือน และใช้เสรีภาพอย่างผิดกฎหมาย ทุกคนก็ทราบดีว่าม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น เพราะหากเป็นม็อบธรรมดา เรื่องจบไปนานแล้ว” ซึ่งขณะนั้นสื่อมวลชนและประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจได้ว่า เส้นนั้นหมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เนื่องจากทรงเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551 และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ความตอนนึงว่า น้องโบว์เป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์[100]แม้ว่า พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ไม่ได้กล่าวพาดพิงบุคคลใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554 นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ได้ถูกจำคุก โดยตำรวจได้ฝากขังตามประมวญกฎหมายอาญา มาตรา 135/1[101] อันเป็นความผิดฐานก่อการร้าย ก่อนออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554 หลังมีคำสั่งศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว [102] ซึ่งเท่ากับว่าแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ถูกเข้าเรือนจำในข้อหาก่อการร้ายเพียงคนเดียว และ เพียง 8 วัน จากที่ตำรวจฝากขัง 12 วัน ส่วน นายสมบูรณ์ ทองบุราณ ไม่ถูกจำคุกด้วยข้อหาก่อการร้าย ภายหลังจากการเข้าเรือนจำนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ได้เปิดเผยว่าเข้าได้พบ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อและได้พูดคุยเพื่อปรึกษาวางแผนการชุมนุมล้มรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ[103] ต่อมานายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ออกมาปฏิเสธ[104] โดยคดีความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่สำคัญ ได้แก่

กรณีการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล

หลังจากเหตุการณ์บุกเข้าใช้ทำเนียบรัฐบาลเพื่อใช้เป็นสถานที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในวันที่ 27 สิงหาคม องค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญาไต่สวนคำร้องขออนุมัติออกหมายจับและได้อนุมัติออกหมายจับ 9 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล, พลตรีจำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สุริยะใส กตะศิลา, เทิดภูมิ ใจดี, อมร อมรรัตนานนท์ และ ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ โดยระบุว่า ผู้ต้องหาที่ 1-9 ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, ผู้ใดสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี มาตรา 114, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกแล้วไม่เลิก ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 215 และ 216[105]

ต่อมา ในวันที่ 3 ตุลาคม ขณะที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ที่ถูกหมายจับข้อหาเป็นกบฏได้เดินทางไปที่บ้านของนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เพื่อผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าและเดินทางกลับด้วยรถยนต์ส่วนตัว ได้ถูก พ.ต.อ.ปรีชา ธิมามนตรี เข้าจับกุมตัวและนำตัวไปกักขังไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 คลอง 5 ปทุมธานี [106] [107] ถัดมา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม โดยนำไปควบคุมตัวที่เดียวกับนายไชยวัฒน์ แต่ พล.ต.จำลองแสดงความจำนงว่าไม่ต้องการประกันตัวเช่นเดียวกับนายไชยวัฒน์[108] [109]

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับข้อหากบฏ 9 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและข้อหาซ่องสุมกำลัง โดยที่ศาลได้ให้เหตุผลในการถอนหมายจับว่าเป็นการตั้งข้อหาเลื่อนลอย แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงให้หมายจับข้อหาผู้ใดกระทำการเพื่อให้เกิดการปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี มาตรา 116 ข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกแล้วไม่เลิก ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 215 และ 216 [110] ในวันเดียวกันนี้ ศาลยังได้อนุมัติให้พลตรีจำลอง ศรีเมือง และนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ประกันตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข[111]คดีนี้เป็นตามคดีหมายเลขดำ อ. 4925/2556 และ คดีหมายเลขดำ อ.276/2556

ในส่วนคดีก่อการร้ายยึดทำเนียบรัฐบาลปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ให้จำคุกแกนนำพันธมิตร ได้แก่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นเวลา 8 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีอยู่ระหว่างรอคำตัดสินศาลฎีกา[112]ใช้เวลา 9 ปีจึงจะมีคำสั่งศาลอุทธรณ์

คดีอาญาการบุกสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

ศาลลงโทษจำคุกนักรบศรีวิชัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสูงสุด 6เดือน 8เดือน 9เดือน 1ปี 1ปี4เดือน 1ปี 6เดือน 2ปี สูงสุด 2ปี 6เดือน ปรับสูงสุด 1500 บาท[113]

ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561 ศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีอาญาหมายดำที่ อ.1033/2561 ในคดีที่กลุ่มพันธมิตรประมาณ10ราย บุกรุกสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น บี ที โดยบุกรุกระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ถึง 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551[114]ในคำฟ้องระบุค่าเสียหายรวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 612,198.80 บาท

คดีแพ่งการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล

นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรียังเข้าแจ้งความต่อแกนนำพันธมิตร 6 คนที่ร่วมกันบุกรุกทำเนียบรัฐบาลทำให้สวนหย่อมด้านหน้าเสียหาย เป็นมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ซึ่งคดีกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา[115]

คดีจี้รถเมล์

ศาลอาญามีคำสั่ง จำคุก 5 การ์ดพันธมิตร ในข้อหามีอาวุธปืนและระเบิด เพื่อใช้ข่มขู่บังคับพนักงานรถเมล์และผู้โดยสารรถเมล์ให้ไปยังรัฐสภาโดยร่วมกันใช้อาวุธจี้ มีความผิด ฐานร่วมกันข่มขืนใจและกักขังหน่วงเหนี่ยว มีอาวุธปืนและระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้ในที่สาธารณะ รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 66 บาท และฐานมีวิทยุสื่อสารในโดยไม่ได้รับอนุญาต (คนเดียว)รวมจำคุก 2 ปี ปรับเพิ่มอีก 2,000 บาท ผู้ต้องหาขอประกันตัวและยื่นต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอนุญาต[116]

คดีอาญาการบุกยึดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

การบุกยึดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรส่งผลให้ถูกดำเนินคดีความโดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

คดีการบุกรุกท่าอากาศยานดอนเมือง โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รุ่น 1 และ 2 รวมทั้ง ผู้ประกาศเอเอสทีวีที่ร่วมดำเนินรายการเวทีปราศรัย รวม 27 คน ใน 4 ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 116 , 215 , 216 ที่มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร โดยเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และมาตรา 364 ที่บุกรุกสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น ซึ่งโทษสูงสุดอยู่ที่มาตรา 116 คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

ส่วนคดีบุกรุกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รุ่น 1 และ 2 รวมทั้งผู้ประกาศเอเอสทีวี ที่ร่วมดำเนินรายการเวทีปราศรัย รวม 25 คน ใน 7 ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาในมาตรา 116 , 215 , 216 และ 364 ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับสำนวนบุกรุกท่าอากาศยานดอนเมือง ส่วนข้อหาที่เพิ่มขึ้นมาอีก 3 ข้อหา ตามพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546[117]ในมาตรา 135/1, 135/2, 135/3, 135/4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 โดยมีโทษสูงสุด คือ ประหารชีวิต[118]

ปัจจุบันคดีนี้ยังไม่แล้วเสร็จโดยอัยการได้ทำการเลื่อนฟ้อง 18 ครั้ง[119]ก่อนที่จะส่งฟ้องในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556[120]สำนวนคดีมี 8 สำนวนได้แก่ อ.973/2556 , อ.1087/2556[121] , อ.1204/2556 , อ.1279 /2556 , อ.1361/2556[122] , อ.1406/2556 , อ.1522/2556 และ อ.1559/2556[123]

แม้เหตุการณ์การบุกยึดท่าอากาศยานในประเทศไทย พ.ศ. 2551 จะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่คดีความหมายคดีหมายดำที่ อ.973/2556 ยังอยู่ในระหว่างสืบพยานโจทก์[124]

คดีแพ่งการบุกยึดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวก รวม 14 คน กรณีนำกลุ่มพันธมิตรฯ ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองโดยเรียกค่าเสียหายจำนวน 103,483,141.80 บาท จากนั้นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 36 คน ในข้อหาความผิดละเมิดเรียกค่าเสียหาย 575,229,059 บาท[125] ในส่วน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องเมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ศาลแพ่งได้ตัดสินให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ 13 คน ชดใช้ค่าเสียหายทั้งกายภาพและทางพาณิชย์ 522,160,947.31 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าทนายความโจทก์ 8 หมื่นบาท นับจากวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คดีจบลงในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 เนื่องจากศาลฎีกายกคำร้อง[126]ส่งผลให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรต้องชดใช้เงินเฉลี่ยคนละ 40,166,226.72 ล้านบาท

โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ค.58 นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา พร้อมทั้งยื่นฎีกาต่อศาลในคดีดังกล่าวแล้ว โดยอ้างเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในขณะที่นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฏีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฏีกา โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบทราบว่า คดีดังกล่าวถึงที่สิ้นสุดแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

คดีทางแพ่งจบลงเมื่อศาลฎีกาไม่ยอมรับคำร้องฎีกาของจำเลย ผลที่ตามมาคือพันธมิตรแพ้ในคดีนี้ และกรมบังคับคดีได้อายัดทรัพย์บัญชีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้งหมด 13 รายในปี พ.ศ. 2561[127] เฉพาะคดีแพ่งใช้เวลากว่า 10 ปี

แหล่งที่มา

WikiPedia: การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 http://special.bangkokbiznews.com/detail.php?id=23... http://www.bangkokbiznews.com/2008/06/20/news_2688... http://www.bangkokbiznews.com/2008/12/02/news_3168... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/495111 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/773876 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/802974 http://www.bangkokpost.com/News/07Jun2008_news05.p... http://www.bangkokpost.com/breaking_news/breakingn... http://www.bangkokpost.com/topstories/topstories.p...